ด่วน! จับตา 3 คดีในศาล รธน.ชี้ขาดกฎหมาย สว. พิจารณายุบก้าวไกล – ถอดนายกฯ

 

ด่วน! จับตา 3 คดีในศาล รธน.ชี้ขาดกฎหมาย สว. พิจารณายุบก้าวไกล - ถอดนายกฯ

ด่วน! จับตา 3 คดีในศาล รธน.ชี้ขาดกฎหมาย สว. พิจารณายุบก้าวไกล – ถอดนายกฯ

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 18 มิถุนายน 67 องค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุมประจำสัปดาห์เพื่อพิจารณาคำร้องต่างๆ โดยสัปดาห์นี้ขยับวันประชุมประจำสัปดาห์จากวันพุธมาเป็นวันอังคารแทน มีวาระที่น่าสนใจ อาทิ กรณีประธานวุฒิสภา ส่งคำร้องสมาชิกวุฒิสภา 40 คน ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคสาม ประกอบมาตรา 82 ว่า ความเป็นรัฐมนตรีของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี สิ้นสุดลงเฉพาะตัวตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 170 วรรคหนึ่ง (4) ประกอบมาตรา 160 (4) และ (5) หรือไม่ กรณีนำความกราบบังคมทูลเพื่อโปรดเกล้าฯแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ทั้งที่รู้หรือควรรู้อยู่แล้วว่าขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามตามรัฐธรรมนูญ เนื่องจากเคยถูกศาลฎีกามีคำสั่งจำคุกเป็นเวลา 6 เดือนในความผิดฐานละเมิดศาล นอกจากนี้ ยังมีวาระการพิจารณากรณีคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.

โดยนายทะเบียนพรรคการเมือง ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยเพื่อมีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกล (ก.ก.) และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของบุคคลผู้เป็นคณะกรรมการบริหารพรรคภายในกำหนด 10 ปี โดยกล่าวหามีพฤติการณ์กระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และเข้าลักษณะกระทำการอันอาจเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยคำร้องแรก ศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำสั่งให้คู่กรณี คือสมาชิก 40 ส.ว. ในฐานะผู้ร้อง และนายเศรษฐา ในฐานะผู้ถูกร้อง ยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐาน ต่อศาลรัฐธรรมนูญภายในวันจันทร์ที่ 17 มิถุนายนที่ผ่านมา ซึ่งคู่กรณีทั้ง 2 ฝ่าย ได้ดำเนินการยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเรียบร้อยแล้ว ส่วนคำร้องที่ขอให้ศาลพิจารณามีคำสั่งยุบพรรคก้าวไกลนั้น ศาลรัฐธรรมนูญ กำหนดให้เฉพาะแค่ กกต.ในฐานะผู้ร้องยื่นบัญชีระบุพยานหลักฐานเท่านั้น ซึ่งทางกกต.ได้ดำเนินการส่งเอกสารตั้งแต่วันศุกร์ที่ 14 มิถุนายนที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ศาลรัฐธรรมนูญ ได้นัดประชุม ปรึกษาหารือ และลงมติว่าพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.)ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 มาตรา 36 มาตรา 40 มาตรา 41 และมาตรา 42 ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 107 หรือไม่ สืบเนื่องจากกรณีที่ศาลปกครองกลางส่งคำโต้แย้งผู้ฟ้องคดีเพื่อขอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัย ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 212 ว่า พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2561 ทั้ง 4 มาตราดังกล่าวขัดหรือแย้งรัฐธรรมนูญหรือไม่

โดยศาลมีคำสั่งรับคำร้องไว้พิจารณาเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน และสั่งให้กกต. จัดทำความเห็นเป็นหนังสือตามประเด็นที่กำหนดและยื่นต่อศาลภายใน 5 วัน และศาลเห็นว่า คดีเป็นปัญหาข้อกฎหมายและมีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะพิจารณาวินิจฉัยได้ จึงยุติการไต่สวนตามพ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2561 มาตรา 58 วรรคหนึ่ง กำหนดนัดแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือ และลงมติ อย่างไรก็ตาม การประชุมวันเดียวกันนี้เป็นการประชุมตามปกติ จึงไม่มีการออกนั่งบัลลังก์อ่านคำวินิจฉัย โดยหลังลงมติเสร็จสิ้น ศาลรัฐธรรมนูญจะเผยแพร่ผลการพิจารณาผ่านทางเอกสารข่าวแจ้งสื่อมวลชนให้ได้รับทราบอีกครั้ง

:: ร่วมแสดงความคิดเห็นกับสิ่งนี้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *