ที่ผ่านมา ยุทธวิธีของชาวกัมพูชา ในการโต้เถียงกับคนไทย เกี่ยวกับเรื่องการอ้างสิทธิ์ หรือเคลมศิลปวัฒนธรรม โดยไม่คำนึงถึงหลักฐานใดๆ มักจะอาศัยการอ้างอิงความเก่าแก่ของนครวัด จากภาพแกะสลักนูนต่ำ ที่มีมาตั้งแต่ดั้งเดิม หรือแม้แต่ภาพแกะสลักใหม่ในยุคปัจจุบัน ที่เหมือนไม่ได้รับการควบคุมดูแลอย่างถูกต้อง จนเกิดคำถามขึ้นมาว่า การแก้ไข ทำลาย แกะสลักภาพนูนต่ำขึ้นมาใหม่ บนโบราณสถานเหล่านี้ จะผิดกฏของการเป็นมรดกโลก ตามเงื่อนไขขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNESCO หรือไม่ การเคลมทรัพย์สินทางปัญญาของไทย ด้วยการอ้างภาพแกะสลักโบราณ ที่ไม่มีความเชื่อมโยงใดๆ เพียงเพื่อหาความชอบธรรม ในการขโมยทรัพย์สินทางปัญญาของคนอื่น โดยไม่ผิดกฏหมาย สามารถทำได้ถนัดปาก เพราะชาวเขมรส่วนใหญ่เชื่อว่า นครวัด มีอายุเก่าแก่กว่ากรุงสุโขทัย แต่ล่าสุด การอ้างอิงแบบข้างๆคูๆนี้ อาจจะไม่มีน้ำหนักอีกต่อไป เมื่อ UNESCO กำลังพิจารณาขั้นสุดท้าย ในการขึ้นทะเบียนอุทยาน
ประวัติศาสตร์ หรือเมืองโบราณศรีเทพ ที่ตั้งอยู่ในจังหวัดเพชรบูรณ์ของไทย เป็นมรดกโลกแห่งใหม่ โดยคาดว่าการตัดสินใจ จะเกิดขึ้นในการประชุม ของคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ที่จะมีขึ้นในวันที่ 10-25 กันยายน ศกนี้ ณ กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย หลังได้รับการบรรจุอยู่ในบัญชีเบื้องต้นของ UNESCO มานานเกือบ 10 ปี โดยกระทรวงวัฒนธรรมของไทย ได้เชิญคณะฑูตานุทูต 7 ประเทศสมาชิก ซึ่งได้แก่ อาร์เจนติน่า เบลเยี่ยม อียิปต์ อินเดีย อิตาลี เม็กซิโก และไนจีเรีย ให้เดินทางมาเยี่ยมชมสถานที่จริง เพื่อแสดงถึงความพร้อมของไทย ตามคำแนะนำของกระทรวงการต่างประเทศ และยังถือว่าเป็นโอกาสสำคัญ ในการขอเสียงสนับสนุน การขึ้นทะเบียนเมืองโบราณศรีเทพของไทย ในครั้งนี้อีกด้วย โดยก่อนหน้านั้น ก็ได้มีผู้แทนของ UNESCO ได้ลงพื้นที่ประเมินศักยภาพความพร้อมทุกด้าน ขณะที่เอกสารการขอขึ้นทะเบียนทั้งหมด ได้รับการประเมิน และผ่านการตรวจสอบ สำหรับการอนุมัติขั้นสุดท้ายแล้ว ซึ่งต้องบอกว่า โอกาสอนุมัติการขอขึ้นทะเบียนมีอยู่สูงมาก
การที่โบราณสถานของไทย ได้รับการยกย่องให้เป็นมรดกโลก เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งอยู่แล้ว แต่กรณีนี้ อาจจะต่างไปจากกรณีทั่วไป ตรงที่ว่า เมืองโบราณศรีเทพ เป็นแหล่งวัฒนธรรมสมัยทวาราวดี ที่มีอายุ 1,500-1,700 ปี มากกว่านครวัด 600-800 ปีเลยทีเดียว บ้างก็บอกว่า อาจจะย้อนไปได้ถึง 2,000 กว่าปี เป็นเหมือนการยืนยัน ถึงความเจริญก้าวหน้าทางด้านวัฒนธรรม ที่มีมาก่อนยุครุ่งเรืองสุดขีดของขอมโบราณ หรือนครวัด เรื่องนี้ จึงเป็นเหมือนการคลายข้อสงสัยไปกลายๆด้วยว่า ทำไมในยุคของโจวต้ากวน ฑูตชาวจีน ที่เดินทางเข้ามายังเจินละ หรือเสียมราฐในปัจจุบัน จึงยืนยันว่า ชาวกัมพูชาในสมัยนั้น ที่ยังเป็นคนป่าอยู่ จำเป็นจะต้องพึ่งพาชาวสยาม ในการเรียนรู้การเย็บชุน ถักทอผ้า ซึ่งชาวสยามเอง ก็ได้เข้าไปทำการค้าขายในเสียมราฐ มาตั้งแต่ยุคโบราณ อีกทั้งยังสามารถเดินทางเข้ามาทำศึก และได้ชัยชนะเหนือชนชาติขอมโบราณ โดยไม่ยากเย็นนัก และได้เริ่มส่งต่อศิลปะวัฒนธรรมแบบสยาม สู่กัมพูชาในสมัยโบราณ มาตั้งแต่นั้นมา ซึ่งจริงๆแล้ว เรื่องราวของเมืองศรีเทพ ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่การที่ได้รับการขึ้นทะเบียนโดย UNESCO เป็นเหมือนการยืนยันให้กับชาวโลก ได้เข้าใจได้ง่ายว่า เมืองโบราณที่มีศิลปแบบทวาราวดีแห่งนี้ มีอายุเก่าแก่กว่านครวัดหลายร้อยปี และมีศิลปะที่โดดเด่น เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมาก่อนแล้ว
บริเวณเมืองโบราณศรีเทพพบหลักฐานทางโบราณคดีค่อนข้างหนาแน่น บ่งชี้ว่ามีชุมชนตั้งอยู่ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย กำหนดอายุราวพุทธศตวรรษที่ 5-7 หรือประมาณ 2000 ปีมาแล้ว เป็นชุมชนที่รู้จักใช้เครื่องมือเหล็ก มีประเพณีการฝังศพ สัมพันธ์กับแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลายที่พบในกลุ่มลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก
ข้อมูลเกี่ยวกับเมืองศรีเทพ บนเว็บไซต์ของ UNESCO ระบุว่า เมืองโบราณศรีเทพเป็นแหล่งวัฒนธรรมทวาราวดี ที่ตั้งอยู่บนที่ราบลุ่ม ห่างจากแม่น้ำป่าสักไปทางทิศตะวันออก ราว 4 กิโลเมตร ในอำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์ มีพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 60 – 80 เมตร ศรีเทพตั้งอยู่ติดกับขอบด้านตะวันตก ของที่ราบสูงโคราช ซึ่งอยู่ในที่ราบสูงตอนกลาง และเป็นศูนย์กลางการค้าที่สำคัญ รวมถึงการเป็นเครือข่ายระหว่างภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในช่วงปลายยุคก่อนประวัติศาสตร์ และช่วงวัฒนธรรมเขมร ในศตวรรษที่ 13
หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์บ่งชี้ว่า บริเวณที่ตั้งเมืองโบราณศรีเทพ และบริเวณใกล้เคียง มีการใช้ประโยชน์ต่อเนื่องมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย ราว 1,700 – 1,500 ปีมาแล้ว ในช่วงเวลานั้น จำนวนและความหนาแน่นของประชากร เพิ่มขึ้นอย่างมาก ประกอบกับมีการผลิตเกลือและเหล็กอย่างเข้มข้น นำไปสู่การขยายตัวอย่างกว้างขวาง ทั่วลุ่มแม่น้ำลพบุรี-ป่าสัก จากการสำรวจพื้นที่ในรัศมี 15 กิโลเมตร จากเมืองศรีเทพโบราณ พบแหล่งอารยธรรมก่อนประวัติศาสตร์ต่างๆ อย่างน้อย 6 แห่ง ได้แก่ แหล่งที่อยู่อาศัย แหล่งทำเครื่องประดับหิน และสถานที่ประกอบพิธีกรรม หรือฝังศพ
ชุมชนสมัยก่อนประวัติศาสตร์ในบริเวณศรีเทพ มีพื้นฐานในด้านเกษตรกรรม ประกอบด้วยหมู่บ้านเล็กๆหลายหมู่บ้าน แต่ละหมู่บ้านมีผู้นำ ประชาชนรู้จักการดำรงชีวิตและจัดการตนเอง ให้อยู่ร่วมกับธรรมชาติได้อย่างดีเยี่ยม พวกเขาเรียนรู้การปลูกข้าวและเลี้ยงสัตว์ ตลอดจนการล่าสัตว์ และเก็บเกี่ยวทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่ นอกจากนี้ในชุมชนยังมีการทอผ้า ทำเครื่องปั้นดินเผา และถลุงโลหะอีกด้วย ผู้คนอาจมีความเชื่อในเรื่องชีวิตหลังความตาย หรือภพหน้า จากการที่พวกเขาได้ทำการฝังผู้เสียชีวิต พร้อมด้วยสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ การหาอายุด้วยวิธีที่เรียกว่า เรดิโอคาร์บอน AMS ของสุนัขเลี้ยง พบว่ามีอายุราว 1,730 ± 30 ปี